COLUMNIST

มองอย่างเซียน ปีม้า?57 โครงสร้างพื้นฐานมาแรง แค่คิดเงินก็ไหลมา
POSTED ON -


 

เศรษฐกิจและพลังงานเป็นคู่จิ้นที่ต้องคู่กันแบบไม่มีเส้นแบ่ง ดูตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกแล้วประเทศไทยปี 2557 น่าจะสดใส ส่วนปัจจัยทางการเมืองอาจฉุดรั้งให้ชะลอตัว จึงขอมองแบบไสยศาสตร์บ้างว่าปี'57 ม.ม้า คึกคัก จะสามารถวิ่งพาเศรษฐกิจไทยกระโดดข้ามอุปสรรคทางการเมืองไปได้

 

บทความนี้จะขอเอาใจชาวสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเป็น Foundation ของ ส.อ.ท. และเป็น Key Success ของพลังงานทดแทนทั้งหลายทั้งปวง เรามาเหลียวหลังแลหน้ากันปีละหนก็คงไม่น้อยเกินไป สำหรับเศรษฐกิจไทยจากนาทีนี้เป็นต้นไปกะพริบตาไม่ได้ ขวานทองของเรานั้นสุกใสในสายตาชาวโลก อาจดูหม่นหมองไปหน่อยสำหรับคนไทยที่รับฟังข่าวด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว ดูได้จากการท่องเที่ยว ถ้าเป็นประเทศอื่น หากมีการทะเลาะกันภายในประเทศเช่นนี้ คงไม่มีใครมาเที่ยว มาค้าขายแล้ว แต่ไทยเราได้รับผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น

 

ขอมองผลกระทบทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับธุรกิจพลังงานทดแทน ผลกระทบเชิงบวกภายในประเทศ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ว่าจะมีปัญหาการเมืองอย่างไรก็จะมีการขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟความเร็วสูงและเส้นทางเชื่อมโยงจากจีนสู่อาเซียน ส่วนสิ่งแวดล้อมภายนอกถ้าเรามองเฉพาะที่ใกล้ตัวเรา ก็คือ ASEAN และ ASEAN+3 ซึ่งรวมจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้เข้าไปด้วย ในทางการเงินการลงทุนแล้ว AEC ถูกแบ่งออกอย่างน้อย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม เป็นกลุ่มที่ยังพัฒนาน้อย และได้รับแต้มต่อมากมายด้านภาษีเมื่อเปิด AEC อย่างเป็นทางการ

 

อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงนัก เนื่องจากเราอยู่เมืองไทย ก็คือ กลุ่ม TIP ที่นักลงทุนต่างชาติส่วนหนึ่งได้แยกเพื่อให้การวิเคราะห์การลงทุนในอาเซียนง่ายขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นกลุ่มที่นักลงทุนมองว่าน่าลงทุนมากที่สุดในอาเซียน แต่มีความเสี่ยงทางด้านการเมืองมากที่สุดด้วยเช่นกัน เคราะห์ดีที่ประเทศไทยเวลาทะเลาะกัน ไม่เคยไปยกเลิกสัญญาชาวต่างชาติที่ไว้ใจมาลงทุน ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ถึงแม้การเมืองจะมั่นคงแต่โอกาสในการจะเข้าไปลงทุนด้านพลังงานทดแทนมีไม่มากนัก

 

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าระหว่างจีน ซึ่งอยู่ในอาเซียน +3 กับแฟนพันธุ์แท้ 9 ประเทศในอาเซียน ใครจะมีผลกระทบทั้งบวกทั้งลบกับประเทศไทยมากกว่ากัน คงไม่มีใครกล้าฟันธงในเรื่องนี้ สำหรับผู้เขียนมองว่า “รักแท้อาจแพ้ใกล้ชิด” อาเซียนเป็นเป้าหมายใหญ่ของกลุ่มประเทศเล็กๆ ที่รวมตัวกันอย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ แต่สำหรับจีนเปรียบเสมือนเสี่ยใหญ่ใจดีที่พร้อมผูกมิตรสาวสวยอาเซียนอย่างไทย อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจ จากนโยบาย “ผูกมิตรทิศใต้” ของจีน มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าจีนพร้อมสู่อาเซียนผ่านไทยแน่แท้

 

หากท่านยังมัวเพลิดเพลินกับการเมืองทั้งภายใน ส.อ.ท. และการเมืองระดับชาติ จนลืมไปว่าภารกิจของท่านแท้ที่จริงคือนักธุรกิจแล้วล่ะก็ อาจตกรถไฟสายเศรษฐกิจนี้ได้ เมื่อลืมตา เปิดใจขึ้นมา ปรากฏว่า โอกาสทองได้ผ่านไปแล้ว ก็ทำให้ท่านเสียโอกาสในการก้าวให้ทันเพื่อน

 

จะขอยกตัวอย่างที่มองเห็นได้ง่ายๆ และจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ทันลูกหลานท่านแน่ๆ มาดูว่าจีนมีผลต่อเศรษฐกิจไทยเราอย่างไรบ้าง

 

1. นายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่มาลงนาม MOU กับรัฐบาลไทย 4 ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์แบบย่อๆ ก็เพื่อ

 

1.1 ความร่วมมือด้านพลังงานในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region)

1.2 แลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างประเทศ อาทิ บุคลากรครูและนักเรียน

1.3 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและสินค้าเกษตร

1.4 ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

2. เส้นทางต่างๆ จากคุนหมิงผ่านมาทางพม่า ไทย ลาว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง R3A, R8, R9 ก็ล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญทางด้านเศรษฐกิจทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสินค้าเกษตร ซึ่งจีนมองว่าอาเซียนเป็นแหล่งสินค้าเกษตรสำรองของจีน ผู้สูงอายุคงต้องหายใจยาวๆ รอนั่งรถไฟไฮสปีดจากคุนหมิงไปสิงคโปร์ดู ไม่ต้องวิเคราะห์ท่านก็มองทะลุปรุโปร่งได้ ไม่ว่าท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การเมือง กระทบเป็นวงกว้าง คงต้องสร้างสารคดีเรื่อง “สองข้างทางรถไฟ” กันอย่างยืดยาว ทางรถไฟกิโลเมตรต่อกิโลเมตร มีมูลค่าเพิ่มตลอดเส้นทาง

 

ท่านประธานฯ ภาค และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ หลังว่างเว้นจากการเมืองเรื่องเลือกตั้งใน ส.อ.ท. แล้ว ก็มาหันหน้าเข้าหากันทำเพื่อสมาชิกกันต่อ สำหรับท่านที่รับผิดชอบในจุดที่เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ คงต้องเริ่มทำการบ้านให้สมาชิกได้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองชายแดน ประตูสู่ AEC ทั้งหลาย อย่ามัวแต่พูดว่าราคาที่ดินขึ้น แต่คงต้องมองว่าแล้วสมาชิกหรือชุมชนได้อะไร หรือมีแต่นายทุนทั้งไทยและเทศมาขุดทองในบ้านเราอย่างนั้นหรือ?

 

ในนาทีนี้ ท่านประธานฯ ทั้งหลายต้องเร่งรีบวางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชียงราย แม่สอด กาญจนบุรี นครพนม หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ชุมพร ระนอง และแน่นอนที่สุดปลายด้ามขวาน หากสงบลงได้ เศรษฐกิจปลายด้ามขวานจะโชติช่วงชัชวาลกว่าที่คิด เนื่องจากเป็นประตูสู่อาเซียน

 

กลับมาที่พลังงานทดแทนกันดีกว่า ในบทความนี้ขอพูดถึงภาพรวมก่อน ถ้ามีโอกาสจะเจาะลึกเป็นรายภาค ซึ่งคงต้องอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากท่านประธานฯ แต่ละภาค คำพูดที่ว่า “ใกล้เกลือกินด่าง” อาจเป็นจริง เมื่อคนที่อยู่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนติดตามข่าวด้านเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิด มองเห็นเศษพืช เศษไม้ ใบหญ้า รวมทั้งขยะแสนสกปรกเป็นพลังงานทดแทนไปหมด ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดินและคุณค่าแห่งพืชพันธุ์ทั้งหลายกลับพยายามจะขายที่ดินเอาตัวรอดร่ำรวยไปในเจเนอเรชั่นของตน... ระวังผีปู่ย่าจะตำหนิเอา  

 

ข่าวดีว่าปีนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ทำนายว่า ภาคเกษตรจะดีขึ้น 4% ถึงแม้จะน้อยไปหน่อย แต่ก็พอทำให้มีความหวัง การวิเคราะห์อัตราการเจริญเติบโตภาคเกษตรในครั้งนี้อาจจะยังไม่ได้รวมเอาความฝันของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องหญ้าเนเปียร์มารวมด้วย

 

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพลังงานทดแทนกว่า 80% ของไทยมาจากพืช หรือเรียกตามภาษาวิชาการว่า Bio Energy ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยและอาเซียน หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน เป็นทองแผ่นเดียวกัน มองพลังงานชีวภาพด้วยมุมมองเดียวกัน ฝันของชุมชนคงจะเป็นจริงและจับต้องได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ โดยไม่ต้องหายใจยาวๆ รอเหมือนทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์

 

 

ในเมื่อทิศทางฉบับนี้มุ่งหน้าไปที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ขอวิเคราะห์แนวโน้มหญ้าเนเปียร์กันอีกทีเพื่อตอบคำถามทางโทรศัพท์ยอดฮิตว่า “ปลูกหญ้าเนเปียร์คุ้มค่าไหม?”

 

สำหรับลูกอีสานหลานย่าโม คงไม่ต้องอธิบายมาก เห็นมาแต่อ้อนแต่ออกเหมือนกับสบู่ดำ แต่สบู่ดำเสมือนพืชพลังงานที่ตายด้วยผลงานวิจัย ทำให้นโยบายรัฐไม่ขับเคลื่อนต่อ แต่สบู่ดำไม่เคยตายไปจากเมืองไทย ยังคงรอวันรีเทิร์น เมื่อมีเจ้าชายขี่ม้าขาวเห็นคุณค่ามาจุมพิต สำหรับหญ้าเนเปียร์ พืชอาหารสัตว์และพลังงานชีวภาพที่ถูกตาต้องใจกระทรวงพลังงานในทศวรรษนี้ จะเป็นสบู่ดำ 2 หรือไม่อยู่ที่คุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ คือคุ้มค่าจริงหรือไม่ ซึ่งคงต้องรอคอยโครงการที่รัฐสนับสนุนไปนับสิบโครงการด้วยงบหลายร้อยล้านบาท ขอให้ผู้รับงบประมาณเอาจริงเอาจัง

 

หากหญ้าเนเปียร์จะคุ้มทุนโดยต้องรับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว ก็ควรหันมามองสบู่ดำว่า ถ้ารัฐอุดหนุนบ้างจะคุ้มทุนไหม และเปรียบเทียบว่าสบู่ดำกับหญ้าเนเปียร์พืชชนิดใดคุ้มค่ากว่ากัน หรืออาจคุ้มค่าทั้งสองชนิด แต่ใช้พื้นที่ปลูกแตกต่างกัน เรามาช่วยกันให้กำลังใจกระทรวงพลังงานกันดีกว่า เพื่อว่า Feed-in Tariff จะออกมาจูงใจชาวพลังงานทดแทนเหมือนพลังงานแสงอาทิตย์บ้าง ซึ่งต้องจับสลากวัดดวงขอโควตากัน เป็นการยืนยันว่าต้องเก่งบวกเฮงจึงจะรวยได้

 

 

กรมปศุสัตว์เดินหน้านำเสนอเนเปียร์ปากช่อง 1

 

เนเปียร์สายพันธุ์ลูกผสม ฝีมือกรมปศุสัตว์ โดยนำเสนอว่าหญ้าเนเปียร์คือ “Non Food Energy Crops” พร้อมข้อมูลนำเสนอมากมาย ใครสนใจลองนำไปเปรียบเทียบดูกับข้อมูลที่ท่านมีดูว่าสอดคล้องกันหรือไม่ คุณอานุภาพ เส็งสาย นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ หนึ่งในผู้ทุ่มเทชีวิตราชการให้กับหญ้าเนเปียร์ พร้อมให้คำตอบทุกท่านว่า “ปลูกหญ้าเนเปียร์คุ้มค่าไหม?”

 

ไม่ว่าการเมืองจะพลิกผันไปด้านใด พลังงานก็ยังเป็นสิ่งที่เหลือน้อย หายาก ราคาแพง และต้องใช้ทุกนาทีที่มีชีวิต พลังงานเป็นปัจจัยที่ 5 ตัวจริงของมนุษย์ เรามาค้าขายพลังงานทดแทนกันดีกว่า เริ่มด้วยการสมัครสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เพื่อหาข้อมูลก่อนลงทุนดีไหม